อว. จับมือ ทปอ.- สมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย-ภาคีเครือข่ายรัฐและเอกชน ร่วมเปลี่ยนประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

SDGs:

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2567 มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ร่วม งานสัมมนา “เปลี่ยนผ่านประเทศสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยฐานความรู้ นวัตกรรม และความร่วมมือรัฐ เอกชน สังคม” หรือ “Social Value Thailand Forum” และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “Impact university Impact Partnership สานพลังขับเคลื่อนนโยบายความมีส่วนร่วมสู่การบรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้ประเมินมูลค่าทางสังคมไทย (Social Value Thailand) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) สมาคมพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม (Engagement Thailand) เครือข่ายมหาวิทยาลัยยั่งยืนแห่งประเทศไทย (SUN Thailand) และสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (UN Global Compact Network Thailand) ระหว่างวันที่ 25-26 เมษายน 2567 ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา

นายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ กล่าวว่า นโยบายการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศความมุ่งมั่นระดับประเทศ เพื่อขับเคลื่อน SDGs และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ในงาน SDG Summit 2023 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งกระทรวง อว. ได้ดำเนินการสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการดำเนินงานโครงการสำคัญต่างๆ ได้แก่ โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (University to Tambol: U2T) และ โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG (U2T ระยะที่ 2) ซึ่งผลการดำเนินงานโครงการดังกล่าวนอกจากจะส่งผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สนับสนุนโอกาสการเรียนรู้และการมีสุขภาพที่ดี เพิ่มความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมของชุมชน ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ยังตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อีกด้วย

กระทรวง อว. ยังได้สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาไทยเข้าสู่การจัดอันดับของ THE Impact Ranking เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษา ภายใต้การดำเนินงานโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) จากผลการจัดอันดับ THE Impact Ranking ประจำปี 2023 พบว่า มีจำนวนสถาบันอุดมศึกษาไทยติดอันดับ จำนวน 65 แห่ง จากสถาบันอุดมศึกษาที่เข้ารับการจัดอันดับ 1,591 แห่งจากทั่วโลก โดยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2022 ซึ่งมีจำนวน 52 แห่ง โดยมีสถาบันอุดมศึกษาไทยที่ติด Top 100 ของโลกแบบคะแนนรวม จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อันดับที่ 17) มหาวิทยาลัยมหิดล (อันดับที่ 38) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (อันดับที่ 74) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (อันดับที่ 97) หากพิจารณารายเป้าหมายแล้ว พบว่า มีสถาบันอุดมศึกษาไทยที่ได้รับการจัดอันดับ Top 10 ของโลก ได้แก่ เป้าหมายที่ 3 สร้างหลักประกันว่าคนมีชีวิตที่มีสุขภาพดีและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกวัย มหาวิทยาลัยมหิดล ติดอันดับที่ 3 ของโลก เป้าหมายที่ 1 ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ติดอันดับที่ 4 ของโลก เป้าหมายที่ 17 เสริมความเข้มแข็งให้แก่กลไกการดำเนินงานและฟื้นฟูหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล ติดอันดับที่ 5 ของโลก เป้าหมายที่ 7 สร้างหลักประกันให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ที่ยั่งยืนในราคาที่ย่อมเยา มหาวิทยาลัยมหิดล ติดอันดับที่ 5 ของโลก เป้าหมายที่ 5 บรรลุความเท่าเทียมระหว่างเพศ และเสริมอำนาจให้แก่สตรีและเด็กหญิง ติดอันดับที่ 7 ของโลก และเป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ติดอันดับที่ 9 ของโลก

“ที่สำคัญ กระทรวง อว. จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับ Times Higher Education จัดงาน Global Sustainable Development Congress 2024 ระหว่างวันที่ 10-13 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ เพื่อร่วมหารือเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขเร่งด่วนด้านการพัฒนาความยั่งยืนของภาคอุดมศึกษา รัฐบาล ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ และเพื่อขับเคลื่อนการศึกษา การวิจัย โครงการนวัตกรรม ให้บรรลุผลลัพธ์ที่จับต้องได้ และในงานนี้ THE จะประกาศผลการจัดอันดับ THE Impact Ranking ประจำปี 2024 ซึ่งกระทรวง อว. หวังว่ากิจกรรมดังกล่าว จะมีส่วนผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของประเทศต่อไป

SDGs: