มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น ด้วยการจัดกิจกรรมในโครงการ Soft Power จากอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยความร่วมมือและบูรณาการการทำงานผ่านหน่วยงานจัดการศึกษา หน่วยงานสนับสนุนการจัดการศึกษา และภาคีเครือข่ายในท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพชุมชน ยกระดับคุณค่าศิลปวัฒนธรรมชุมชน และเพิ่มมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจและสังคมให้มีความมั่งคั่งและยั่งยืน โดยมีการดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
1. คณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการประเมินผลศักยภาพชุมชนพื้นที่ Soft Power ในพื้นที่เทศบาลตำบลเวียง และเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนในด้านการท่องเที่ยวและบริการให้มีศักยภาพสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ และยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญามาประยุกต์ใช้ให้เกิดมูลค่าตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งกิจกรรมมีทั้งการเสวนาการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และกิจกรรมแบ่งกลุ่มเพื่อออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวโดยใช้ฐานทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นมานำเสนอเป็นเส้นทางท่องเที่ยว จำนวน 3 เส้นทาง ครอบคลุมพื้นที่ทั้งเทศบาลตำบลเวียงและเทศบาลตำบลเวียงเชียงแสน โดยมีตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่กว่า 40 คน เข้าร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้สอดคล้องกับการเพิ่มศักยภาพชุมชน Soft Power บนฐานอัตลักษณ์ศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น
2. คณะวิทยาการจัดการ ดำเนินงานและขับเคลื่อนโครงการ Soft Power โดยมีการจัดโครงการประกวดการสร้างสรรค์สื่อดิจิทัล Soft Power จากอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์15 (เวียงเก่าแสนภูวิทยาประสาท) อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีการจัดอบรมให้ความรู้การทำคลิปบนแพลตฟอร์ม Tik Tok หัวข้อ “Soft Power” แก่นักเรียน
ทั้งนี้ แพลตฟอร์ม Tik Tok ถือว่าเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมที่สามารถเข้าถึงผู้คนเป็นจำนวนมากได้ การจัดอบรมดังกล่าวได้มีนักเรียนสนใจเข้าร่วมโครงการประกวดมากกว่า 100 คน โดยการนำเสนอชุมชน Soft Power บนฐานอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านแผลตฟอร์ม Tik Tok นั้น เป็นการเพิ่มศักยภาพในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลอัตลักษณ์ของท้องถิ่นให้มีความน่าสนใจ และสามารถดึงดูดผู้คนให้มีส่วนร่วมกับชุมชนมากขึ้น ซึ่งการนำสื่อดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ก็จะเกิดมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชนและท้องถิ่น
3. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม ดำเนินงานและขับเคลื่อนโครงการ Soft Power จากอาหารท้องถิ่นในชุมชนของอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ภายใต้กิจกรรมดำเนินงาน Soft Power จากอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยได้มีการเสวนาและมีการสาธิตการทำอาหารท้องถิ่นในชุมชนของอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย อาทิ ไส้อั่วเชียงแสน, แกงกระด้างเชียงแสน, เอาะหลาม, ส้าลาว, ข้าวปุ้นน้ำปลา (ช้าวซอยน้ำปลา) ซึ่งการดำเนินโครงการดังกล่าวจะช่วยทำให้ชุมชนในพื้นที่เกิดจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และร่วมพัฒนาอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นให้คงอยู่ได้อย่างยั่งยืน และสามารถยกระดับคุณค่าเพื่อนำไปสู่แผนการพัฒนาผู้ประกอบการทางวัฒนธรรม (Cultural Entrepreneur) โดยอาศัยความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาคธุรกิจในพื้นที่ร่วมขับเคลื่อนเพื่อความมั่นคงและเพิ่มรายได้ให้แก่ชุมชนในพื้นที่ต่อไปในอนาคต
การดำเนินงานโครงการ Soft Power จากอัตลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายได้ดำเนินการนี้ นับเป็นการบูรณาการร่วมกันของทุกภาคส่วน เพื่อเป็นการขับเคลื่อนศักยภาพของชุมชนทั้งทางด้านศิลปะวัฒนธรรม วิถีชีวิต และแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญมาประยุกต์ใช้ให้เกิดมูลค่าและคุณค่าที่จะร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นให้ยั่งยืนต่อไป